top of page

 

ประเภทของระบบบำบัดน้ำเสีย

 

ระบบบำบัดน้ำเสียสามารถแยกโดยกระบวนการบำบัดได้ดังต่อไปนี้

  1. ระบบบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางกายภาพ

  2. ระบบบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางเคมี

  3. ระบบบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางชีวภาพ

 

โดยในแต่ละประเภทสามารถจำแนกย่อยลงไปซึ่งจะกล่าวต่อไป ซึ่งในการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียนั้นอาจจะประกอบด้วยกระบวนการบำบัดหลายกระบวนการหรืออาจใช้กระบวนการเดียวก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

  • ลักษณะน้ำเสีย (คุณสมบัติและปริมาณของน้ำที่เข้าระบบ)

  • ระดับของการบำบัด (คุณสมบัติของน้ำที่ผ่านการบำบัด)

  • พื้นที่ในการก่อสร้าง

  • งบประมาณ

 

1. ระบบบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางกายภาพ

ใช้กำจัดสิ่งเจือปนที่เป็นของแข็งขนาดใหญ่ หรือไขมันและน้ำมัน(FOG – FAT OIL& GREASE) ที่เจือปนอยู่ในน้ำเสีย ระบบที่ใช้ก็จะแตกต่างกันไปตามสิ่งเจือปนที่ต้องการกำจัด สามารถจำแนกได้ดังนี้

ตะแกรง (SCREEN) ใช้กำจัดคัดแยกสารแขวนลอยขนาดใหญ่ มีทั้งตะแกรงหยาบและละเอียด มีหลายประเภท ได้แก่ BAR SCREEN, CURVE SCREEN, DRUM SCREEN มีทั้งแบบ MANUAL และ AUTOMATIC การคัดแยกสารแขวนลอยออก จะช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องสูบน้ำอุดตันได้อีกด้วย

  • ถังคัดกรวดและทราย (GRIT CHAMBER) มีหน้าที่คัดกรวดทรายในน้ำเสียเพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องสูบน้ำสึกกร่อนและเสียหายจากกรวดทราย

  • ถังดักไขมัน ใช้ดักและกำจัดไขมันหรือน้ำมันที่ไม่ละลายน้ำ โดยอาศัยหลักการว่าความหนาแน่นของไขมันหรือน้ำมันน้อยกว่าน้ำจึงลอยอยู่ที่ผิวน้ำ ส่วนน้ำที่ไม่มีไขมันหรือน้ำมันจะอยู่ด้านล่าง ดังนั้นการออกแบบจะต้องออกแบบให้ถังดักไขมันมีปริมาตรและพื้นที่ผิวน้ำที่เพียงพอ สามารถตักเอาไขมันออกได้สะดวก โดยมีทางออกของน้ำจมอยู่ใต้น้ำ (UNDERFLOW) และต่ำกว่าระดับไขมันหรือน้ำมันที่สะสมอยู่บริเวณผิวน้ำ

  • ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ DAF (DISSOLVED AIR FLOATATION) ในกรณีที่ไขมันหรือน้ำมันละลายอยู่ในน้ำเสีย จะไม่สามารถใช้ถังดักไขมันในการกำจัดไขมันหรือน้ำมันส่วนนี้ได้ ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ DAF ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อกำจัดไขมันหรือน้ำมันประเภทนี้ หลักการของระบบคือ การสร้างฟองอากาศขนาดเล็กให้ละลายอยู่ในน้ำเสีย ฟองอากาศเหล่านี้จะนำพาเอาไขมันที่ละลายอยู่ในน้ำเสียขึ้นมาที่ผิวน้ำ จากนั้นจะมีใบกวาด (SKIMMER) กวาดตะกอนไขมันหรือน้ำมันที่สะสมบริเวณผิวน้ำออกมา โดยน้ำที่ผ่านระบบจะ UNDERFLOW ออกทางด้านล่างของถัง DAF เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดไขมันหรือน้ำมันอาจมีการเติมสารเคมีเช่น NaOH, PAC หรือ POLYMER ซึ่งจะช่วยให้น้ำเสียเกิดตะกอนก่อนที่ฟองอากาศจะจับเอาตะกอนเหล่านี้ลอยขึ้น ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รูปถัง DAF (DISSOLVED AIR FLOATATION TANK)

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบ DAF

โครงการ THAI POULTRY GROUP 4,000 ลบ.ม ต่อวัน

โครงการ BELTON TECHNOLOGY (THAILAND)., LTD 90 ลบ.ม ต่อวัน

https://www.proenvir.com/dissolvedairfloatationsystem

 

2. ระบบบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการเคมี

การเลือกกระบวนการทางเคมีที่จะใช้ในการบำบัดน้ำเสีย วิศวกรผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของน้ำเสีย ดังนี้

  • ความเป็นกรดด่าง (ค่า pH)

  • ความสามารถในการตกตะกอนของสิ่งปนเปื้อน

  • ประเภทของสิ่งปนเปื้อน (สารอนินทรีย์, โลหะหนัก, ไขมัน และน้ำมัน)

โดยทั่วไประบบบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางเคมีจำแนกตามลักษณะน้ำเสียที่จะทำการบำบัดได้ดังนี้

1. บำบัดน้ำเสียที่มีค่าความเป็นกรดหรือเป็นด่างสูงเกินไป (pH สูงหรือต่ำเกินไป)

ระดับความเป็นกรดเป็นด่างหรือค่า pH มีความสำคัญในระบบบำบัดน้ำเสียแทบทุกประเภท ทำให้ระบบควบคุมค่า pH จึงมีความจำเป็นในระบบบำบัดน้ำเสีย การออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียนั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสิ่งเจือปนในน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียที่กระบวนการต่างกันก็จะมีระดับค่า pH ที่เหมาะสมต่างกัน เช่นระบบบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางชีวภาพมีระดับค่า pH ที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 6-8 ในการปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างนั้น กรณีที่น้ำเสียมีความเป็นกรดสูงเกินไป อาจใช้โซดาไฟ (NaOH) หรือสารละลายปูนขาว (Ca(OH)2) ในการบำบัด แต่ถ้าน้ำเสียความเป็นด่างมากเกินไป อาจจะใช้กรดกำมะถัน (H2SO4) หรือกรดเกลือ (HCl) โดยทั่วไปการควบคุมระดับ pH จะควบคุมโดย pH CONTROLLER ส่วนการควบคุมปริมาณการเติมสารเคมีที่ใช้ในการปรับ pH จะควบคุมโดย METERING PUMP

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียที่มีค่าความเป็นเป็นกรดหรือด่างสูงเกินไป

โครงการ บริษัท อุตสาหกรรมแว่นตาไทย จำกัด 200 ลบ.ม ต่อวัน

https://www.proenvir.com/wastewatertreatmentplant

2. บำบัดน้ำเสียที่มีสารแขวนลอยขนาดเล็กที่ตกตะกอนได้ยาก

การกำจัดสิ่งเจือปนที่ตกตะกอนได้ยากสามารถใช้กระบวนการโคแอกกูเลชั่น (COAGULATION) รวมกับกระบวนการฟล็อคคูเลชั่น (FLOCCULATION) ในการกำจัด กระบวนการ COAGULATION เป็นกระบวนการที่ทำให้ตะกอนเกิดการจับตัว ส่วนกระบวนการ FLOCCULATION เป็นกระบวนการที่ทำให้ตะกอนเกิดการรวมตัวให้ใหญ่ขึ้นเกิดเป็นฟล็อค (FLOC) ระบบบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการนี้จะประกอบด้วยถังกวนเร็วและถังกวนช้า ซึ่งจะมีการเติม PAC หรือสารส้มในถังกวนเร็วเพื่อให้เกิดกระบวนการ COAGULATION ก่อน จากนั้นจะส่งต่อไปยังถังกวนช้าที่จะมีการเติม POLYMER เพื่อให้เกิดกระบวนการ FLOCCULATION น้ำที่มี FLOC เกิดขึ้นโดยทั่วไปมักจะถูกส่งไปยังถังตกตะกอนเพื่อแยกน้ำใสกับตะกอนออกจากกัน โดยตะกอนเคมีที่เกิดขึ้นจะถูกทำให้แห้ง (DE-WATERING) ก่อนนำไปกำจัดต่อไป กระบวนการ COAGULATION และ FLOCCULATION อาจใช้เพื่อกำจัดสีออกจากน้ำเสียได้อีกด้วย

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบผลิตน้ำปะปากำจัดความขุ่นหรือสารแขวนลอยขนาดเล็ก 

โครงการ SIAM FOOD PRODUCT (SARABURI) 150 ลบ.มต่อชั่วโมง

โครงการ สหฟาร์ม (เพชรบูรณ์) 400 ลบ.ม ต่อชั่วโมง

https://www.proenvir.com/watertreatmentplant

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียกำจัดสี โรงงาน PAPER PAKAGING

โครงการ ASA BOXBOARD CONTAINER CO., LTD (SAMUTPRAKARN) 60 ลบ.ม ต่อวัน

โครงการ ASA CONTAINER CO., LTD (SAMUTSAKORN) 15 ลบ.ม ต่อวัน

https://www.proenvir.com/paperpackagingwastewatertreatmentplant

3. บำบัดน้ำเสียที่มีไขมันหรือน้ำมัน (FOG) ละลายอยู่ในน้ำ

การกำจัดไขมันหรือน้ำมัน (FOG) ที่ละลายอยู่ในน้ำนั้นจะใช้กระบวนการ COAGULATION และ FLOCCULATION เหมือนกับการกำจัดสารแขวนลอยที่ตกตะกอนได้ยาก เพียงแต่น้ำทีประกอบด้วย FLOC ที่มีน้ำหนักเบาและลอยตัวอยู่นั้น จะถูกส่งไปยังระบบบำบัดน้ำเสียแบบ DAF เพื่อทำให้ลอยขึ้นเกิดเป็นตะกอนลอยที่ผิวน้ำ ซึ่งจะถูกกวาดออกและกำจัดต่อไป

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียมีไขมันหรือน้ำมัน (FOG) ละลายอยู่ในน้ำ

โครงการ THAI POULTRY GROUP 4,000 ลบ.ม ต่อวัน

โครงการ BELTON TECHNOLOGY (THAILAND)., LTD 90 ลบ.ม ต่อวัน

https://www.proenvir.com/dissolvedairfloatationsystem

4. บำบัดน้ำเสียที่มีสารเจือปนประเภทสารประกอบอนินทรีย์ที่เป็นพิษละลายอยู่ในน้ำ

สารอนินทรีย์ที่เป็นพิษมักจะเป็นสารจำพวกโลหะหนักที่ละลายอยู่ในน้ำเช่นทองแดง(Cu), แคดเมียม(Cd), โครเมียม(Cr+3) เป็นต้น น้ำเสียประเภทนี้ต้องผ่านกระบวนการตกผลึกของแข็ง (PRECIPITATION) ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการ FLOCCULATION เนื่องจากโลหะหนักที่เจือปนอยู่ในรูปสารละลายไม่สามารถใช้กระบวนการ COAGULATION เพื่อให้เกิดการจับตัวเป็นตะกอนได้ กระบวนการ PRECIPITATION นั้นจะทำให้โลหะหนักที่เป็นพิษและละลายอยู่จับตัวเป็นผลึก ก่อนส่งไปยังถังกวนช้าเพื่อเกิดกระบวนการ FLOCCULATION ทำให้เกิด FLOC การแยก FLOC ออกจากน้ำนั้นอาจใช้ถังตกตะกอนหรือวิธีกรองก็ได้ การปรับค่า pH ให้สูงขึ้นนั้น มีความจำเป็นต่อกระบวนการ PRECIPITATION เนื่องจากการตกผลึกของโลหะหนักมักจะเกิดในสภาวะเป็นด่าง

รูป PRECIPITATION TANK

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อกำจัดโครเมียม (Cr+3) โดยกระบวนการ PRECIPITATION

โครงการ  MMI PRECISION FOMING (THAILAND) CO.,LTD.

https://www.proenvir.com/heavymetalremovalwastewatertreatmentplant

 

5. บำบัดน้ำเสียโลหะหนักที่เป็นพิษหรือสารพิษบางประเภท (เช่น โครเมียม(Cr+6), ไซยาไนด์(CN-) เป็นต้น)

ในกรณีที่ไม่สามารถใช้กระบวนการ PRECIPITATION ในการกำจัดสารพิษที่ละลายอยู่ในน้ำเสีย สามารถใช้กระบวนการออกซิเดชั่น-รีดักชั่น (OXIDATION-REDUCTION) ในการบำบัดได้ กระบวนการนี้เป็นปฏิกิริยาที่จะทำให้สารที่เป็นพิษเกิดเป็นสารที่ไม่เป็นพิษแทน จะมีการเติมสาร OXIDANT เช่นออกซิเจน, สารประกอบคลอรีน เป็นต้น เพื่อให้เกิดปฏิกิริยา OXIDATION หรือเติมสาร REDUCTANT เช่น SO2, เกลือซัลไฟต์, เหล็กซัลเฟต เป็นต้น เพื่อให้เกิดปฏิกิริยา REDUCTION ส่วนการเลือกปฏิกิริยาที่จะใช้บำบัดว่าจะเป็น OXIDATION หรือ REDUCTION นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของโลหะหนักหรือสารพิษที่ปนเปื้อน

รูป PRECIPITATION TANK

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อกำจัดโครเมียม (Cr+6) โดยกระบวนการ REDUCTION 

โครงการอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พระประแดง

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อกำจัดไซยาไนด์ (CN-) โดยกระบวนการ OXIDATION 

โครงการอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พระประแดง

https://www.proenvir.com/heavymetalremovalwastewatertreatmentplant

 

3. ระบบบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางชีวภาพ

โดยทั่วไประบบบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางชีวภาพ จำแนกได้ 2 ประเภท ดังนี้

  1. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศหรือใช้ออกซิเจน (AEROBIC WASTEWATER TREATMENT) 

  2. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศหรือไม่ใช้ออกซิเจน (ANAEROBIC WASTEWATER TREATMENT)

ตารางเปรียบเทียบระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศและระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศนั้นเหมาะสมกับน้ำเสียที่มีความเข้มข้นสูง (HIGH STRENGTH WASTEWATER) ที่มีภาระบรรทุกสารอินทรีย์ในปริมาณมาก (HIGH ORGANIC LOADING) แต่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศมักจะเหมาะกับน้ำเสียที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าและภาระบรรทุกสารอินทรีย์ต่ำ (LOW ORGANIC LOADING)

นอกจาก 2 ระบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีอีกระบบที่ใช้ธรรมชาติในการบำบัดน้ำเสียโดยอาศัย อากาศ, ฝน, แดด, ลม, สาหร่าย และจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ระบบนี้เรียกว่า WSPs (WASTEWATER STABILIZATION PONDS) ระบบนี้จะประกอบไปด้วยบ่อขนาดใหญ่หลายบ่อเรียงต่อกัน อาจเป็นบ่อธรรมชาติ (FACULATIVE POND) หรือบ่อที่สร้างขึ้น (CONSTRUCTION WETLAND) แต่เพื่อให้ขนาดและพื้นที่เพียงพอกับการบำบัดโดยธรรมชาติได้จึงต้องการพื้นที่ในการสร้างใหญ่มาก และความสามารถในการบำบัดก็มีจำกัด

1. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ (AEROBIC WASTEWATER TREATMENT)

จุลินทรีย์ที่ใช้ในระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศนั้นต้องใช้ออกซิเจนในการกำจัดของเสียในน้ำ ดังนั้นระบบเติมอากาศจึงสำคัญมากในระบบบำบัดน้ำเสียแบบนี้ ปริมาณของจุลินทรีย์ในระบบต้องเหมาะสมไม่น้อยเกินไปเพื่อไห้ระบบทำงานได้ตามปกติ ในขณะเดียวกันเมื่อจุลินทรีย์บริโภคของเสียในน้ำจำนวนจุลินทรีย์ที่เพิ่มจนมากเกินไปก็ต้องมีการนำออกจากระบบเช่นกัน

A. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ AS (ACTIVATED SLUDGE)

รูปถังเติมอากาศ (AERATION TANK)

เป็นระบบที่ได้รับความนิยมใช้โดยทั่วไป เนื่องจากสามารถใช้กับน้ำเสียได้หลากหลายประเภท ระบบจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ ถังหรือบ่อเติมอากาศและถังหรือบ่อแยกน้ำใสออกจากตะกอน โดยทั่วไปสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท คือ

  • ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ AS แบบทั่วไป

ประกอบด้วยถังเติมอากาศ อาจเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหรือวัสดุอื่นก็ได้ ลักษณะของถังมักจะเป็นรูปทรงเหลี่ยมตามด้วยถังตกตะกอนทรงกลมที่จะรับน้ำเสียที่ผ่านการเติมอากาศแล้ว ถังตกตะกอนจะทำหน้าที่แยกน้ำใสออกจากตะกอน ตะกอนที่ตกจะถูกหมุนเวียนกลับไปที่ถังเติมอากาศ

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ AS โรงงานผลิตกระดาษชำระ 6,000 m3/day BERLI JUCKER CELLOX CO.,LTD

https://www.proenvir.com/de-inkingwastewatertreatmentplant

  • ​​​ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ AS โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป จำหน่ายใน 7-Eleven ขนาด 800 m3/day C.P. RETIAL AND MARKETING CO.,LTD

https://www.proenvir.com/foodwastewatertreatmentplant

  • ​​​ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ AS โรงงานผลิตเลนส์แว่นตา ขนาด 200 m3/day บริษัท อุตสาหกรรมแว่นตาไทย จำกัด

https://www.proenvir.com/wastewatertreatmentplant

 

  • ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ AS แบบคูวนเวียน (OD-OXIDATION DITCH)

มีลักษณะเหมือนระบบ AS แบบทั่วไป แตกต่างตรงที่ลักษณะของบ่อเติมอากาศจะมีคู (DITCH) ให้น้ำไหลวนเวียน ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่อาจจะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงและอาจต้องใช้พื้นที่ในการก่อสร้างมาก เนื่องจากตัวคู (DITCH) มีความลึกได้จำกัดเพื่อให้ความเร็วในคูมากพอที่จะหมุนวนจุลินทรีย์ให้ลอยอยู่ในน้ำได้

รูปบ่อเติมอากาศแบบ OXIDATION DITCH

  • ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ AS แบบ SBR (SEQUENCING BATCH REACTOR) 

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ SBR ต่างจากระบบ AS โดยทั่วไปคือ ระบบ SBR จะใช้ถังเติมอากาศและถังตกตะกอนเป็นถังเดียวกัน ทำให้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างและพื้นที่น้อยกว่าระบบ AS แบบอื่น แต่เนื่องจากระบบต้องมีการรอให้น้ำเสียที่เติมอากาศแล้วตกตะกอน ทำให้ระบบต้องหยุดเป็นช่วงๆ ทำให้ปริมาณน้ำเสียที่รับได้จะน้อยกว่าระบบ AS ทั่วไป ระบบนี้ไม่ต้องหมุนวนตะกอนเนื่องจากถังเติมอากาศและถังตกตะกอนเป็นถังเดียวกัน

รูปถังเติมอากาศแบบ SBR

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ SBR โรงงาน Paper Packaging ASA CONTAINER CO., LTD. (ASA) 15 ลบ.ม ต่อวัน

https://www.proenvir.com/paperpackagingwastewatertreatmentplant

B. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศแบบสระเติมอากาศ AL (AERATED LAGOON)

ระบบสระเติมอากาศทั่วไปจะเป็นบ่อน้ำ 2 บ่อ บ่อแรกเป็นสระเติมอากาศที่ใช้เครื่องเติมอากาศแบบเติมที่ผิวน้ำ(SURFACE AERATOR) อีกบ่อคือบ่อตกตะกอนเป็นบ่อที่ทำหน้าที่แยกน้ำใสกับตะกอนออกจากกัน น้ำและตะกอนแบคทีเรียจากสระเติมอากาศจะล้นไปยังบ่อตกตะกอน (POLISHING POND) แล้วปล่อยให้น้ำใสไหลล้นออกจากระบบ โดยจะไม่มีการนำตะกอนที่ตกอยู่ใน POLISHING POND หมุนเวียนกลับไปยังสระเติมอากาศ ระบบนี้จะใช้พื้นที่มากและน้ำที่ออกจากระบบจะมีตะกอนแขวนลอยสูง

รูปถังเติมอากาศแบบ SBR

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบสระเติมอากาศ AERATED LAGOON โรงงานชำแหละไก่ ขนาด 2,500 m3/day THAI POULTRY GROUP

https://www.proenvir.com/biogasproductionandwastewatertreatmentplant

C. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศแบบจานหมุนชีวภาพ RBC (ROTATING BIOLOGICAL CONTACTOR) 

ระบบ RBC จะใช้ผิวแผ่นจานหมุนที่ซ้อนกันในการเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้อากาศ โดยแผ่นจานจะจุ่มในน้ำเสียบางส่วน และหมุนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจน โดยพื้นที่ผิวของแผ่นจานยิ่งมากระบบก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมาก อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ต้องการบำรุงรักษาอย่างใกล้ชิดและใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูง

D. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศแบบระบบโปรยกรอง (TRICKLING FILTER) 

ระบบนี้ใช้การโปรยน้ำเสียจากด้านบนลงมาผ่านMEDIA ที่มีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ที่ผิวทำให้เกิดการบำบัดน้ำ ดังนั้นจึงต้องออกแบบให้มีพื้นผิวสัมผัสมากเพียงพอ ระบบนี้อาจมีกลิ่นเหม็นและต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก MEDIA ต้องเปียกตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจุลินทรีย์จะตาย ในทางกลับกันก็ต้องระวังไม่ให้ MEDIA อุดตัน ซึ่งจะทำให้น้ำที่ผ่านระบบไม่ได้ตามที่ออกแบบ

2. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ (ANAEROBIC WASTEWATER TREATMENT)

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศไม่เหมือนกับระบบบำบัดแบบใช้อากาศตรงที่จุลินทรีย์ที่ใช้บำบัดน้ำเสียในระบบบำบัดแบบไม่ใช้อากาศไม่ต้องใช้ออกซิเจน (OXYGEN) เพื่อกำจัดของเสียในน้ำ ข้อได้เปรียบหลักของระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศคือ ความสามารถในการบำบัดน้ำเสียที่มีความเข้มข้นและมี ORGANIC LOADING สูงและได้พลังงานทดแทนในรูปของก๊าซมีเทน (CH4) ที่สามารถนำไปใช้ประโยขน์ได้ ข้อแตกต่างระหว่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศและไม่ใช้อากาศได้แจกแจงรายละเอียดไว้ในตารางเปรียบเทียบระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศและระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศแล้ว อย่างไรก็ตามการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศต้องอาศัยผู้ออกแบบที่มีประสบการณ์และความเข้าใจหลักการในการออกแบบระบบเป็นอย่างมาก

A. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ UASB (UPFLOW ANAEROBIC SLUDGE BLANKET) 

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ UASB จะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศอยู่บริเวณด้านล่างของถัง UASB โดยปล่อยน้ำเสียที่ปรับค่า pH แล้วเข้าที่ด้านล่างของถังและน้ำที่ผ่านการบำบัดจะล้นออกด้านบนผ่าน GSS (GAS SOLID SEPARATOR) ซึ่งจะทำหน้าที่แยกก๊าซและเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจลอยขึ้นให้วนกลับไปในถัง UASB ปกติความเร็วไหลขึ้นในถัง UASB จะอยู่ระหว่าง 0.5-1 เมตรต่อชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ชั้นจุลินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศลอยขึ้นสูงและหลุดไปกับน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว

รูปถัง UASB

ตัวอย่างโครงการ

  • ​​​ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ UASB โรงงานผลิตน้ำผลไม้ ขนาด 800 m3/day TIPCO F&B CO.,LTD.

 

https://www.proenvir.com/biogasproductionandwastewatertreatmentplant

B. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ EGSB (EXPANDED GRANULAR SLUDGE BLANKET)

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ EGSB ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อกำจัดจุดด้อยของระบบบำบัดน้ำเสียแบบ UASB ที่ต้องควบคุมให้เชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้บำบัดน้ำเสียอยู่บริเวณก้นถัง ทำให้ความเร็วไหลขึ้นของระบบ UASB ถูกจำกัดไว้ที่ประมาณ 0.5-1 เมตรต่อชั่วโมง ทำให้ถัง UASB มีขนาดใหญ่มาก แต่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ EGSB จะให้เชื้อจุลินทรีย์ขยายขึ้นไปทั่วทั้งถัง EGSB ทำให้สามารถเพิ่มความเร็วไหลขึ้นของน้ำเสียที่ต้องการบำบัดได้มากกว่า 2 เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าระบบบำบัดน้ำเสียแบบ UASB เป็นอย่างมาก พื้นที่หน้าตัดของถัง EGSB จึงมีขนาดเล็กกว่าถัง UASB แต่จะมีรูปทรงสูงแทน ด้วยเหตุนี้พื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ EGSB จะเล็กมากเมื่อเทียบระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ UASB ข้อได้เปรียบอีกประการของระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ EGSB เนื่องจากความเร็วไหลขึ้นในถังปฏิกรณ์ที่สูงกว่าระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ UASB มาก ทำให้มีความสามารถในการรับภาระบรรทุกสารอินทรีย์ต่อปริมาตรของตัวถังปฏิกรณ์ (ORGANIC LOADING RATE) สูงกว่าด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ EGSB สามารถบำบัดน้ำเสียได้หลากหลายประเภทมากกว่าระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ UASB

รูปถัง ESGB

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ EGSB โรงงานผลิตลูกกวาดและช็อกโกแลต ขนาด 250 m3/day ASIA JUMBO INDUSTRIES CO., LTD

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ EGSB โรงงานผลิตลูกอมรสผลไม้ และ LICORICE CANDY ขนาด 120 m3/day GENERAL CANDY CO., LTD

 

https://www.proenvir.com/biogasproductionandwastewatertreatmentplant

C. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศแบบบ่อหมัก APs (ANAEROBIC PONDS)

ระบบบำบัดน้ำเสียประเภทนี้จะใช้กระบวนการหมักไนการบำบัดน้ำเสีย ระบบนี้จะให้ผลผลิตของก๊าซมีเทนที่ได้จากกระบวนการบำบัดแบบไม่ใช้อากาศเหมือนระบบอื่นแต่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ APs นั้นมักใช้พื้นที่ในการก่อสร้างขนาดใหญ่ เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสียแบบ APs มีค่า ORANIC LOADING RATE ต่ำเมื่อเทียบกับระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช่อากาศแบบอื่น ประกอบกับกระบวนการหมักจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อน้ำเสียอยู่ในระบบเป็นระยะเวลานานพอ ทำให้บ่อหรือถังปฏิกรณ์ต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะรองรับน้ำและกักน้ำไว้ในบ่อให้นานให้ได้ RETENTION TIME ตามที่ออกแบบไว้

รูป ANAEROBIC POND

ตัวอย่างโครงการ

  • ตัวอย่างระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ COVERED LAGOON โรงงานชำแหละไก่ ขนาด 2,500 m3/day THAI POULTRY GROUP

 

https://www.proenvir.com/biogasproductionandwastewatertreatmentplant

D. ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศแบบถังกรองไร้อากาศ (ANAEROBIC FILTER)

ระบบนี้มีลักษณะการไหลเวียนของน้ำคล้ายระบบ UASB และ EGSB คือน้ำเสียที่ต้องการบำบัดจะถูกป้อนเข้าด้านล่าง และน้ำที่ผ่านการบำบัดจะออกด้านบน แต่เชื้อจุลินทรีย์จะถูกเลี้ยงและเกาะอยู่ที่ผิวของตัวกรอง (FILTER) ที่อาจจะเป็นหินหรือ MEDIA ที่เป็นพลาสติกก็ได้ ระบบบำบัดแบบนี้จะมีความสามารถในการบำบัดน้อยและไม่หลากหลาย อีกทั้งต้องการการดูแลรักษาระบบอย่างใกล้ชิดเนื่องจาก MEDIA หรือตัวกรองมักจะอุดตันเป็นประจำ

หนังสืออ้างอิง: ดร.มั่นสิน ตัณฑุลเวศม์, เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียอุตสาหกรรม เล่ม1, พิมพ์ครั้งที่1 (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), หน้า 1-41 

bottom of page